เอื้องปากส้อม / -

ประวัติการค้นพบ: ค้นพบโดย Friedrich Richard Rudolf Schlechter (1872 - 1925) นักอนุกรมวิธานและนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ตีพิมพ์ใน Notizblatt des Botanischen Gartens und Museums zu Berlin-Dahlem ในปี ค.ศ. 1922 และมีการเปลี่ยนสกุลอีกครั้ง จนต่อมาสุดท้าย Leslie Andrew Garay (1924 - 2016) นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ย้ายสกุลของกล้วยไม้นี้ให้มาอยู่ในสกุล Cleisostoma ตีพิมพ์ใน Botanical Museum Leaflets ในปี ค.ศ. 1972 ที่มาชื่อไทย: - ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: กล้วยไม้อิงอาศัย (Epiphytic cham.) พบเห็นได้ตามคบไม้สูงจากพื้นดิน มีรากที่ตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูด มีลำต้นที่ค่อนข้างตรงหรือเอียงเล็กน้อย สูงประมาณ 8 - 15 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ลำต้นอวบมนไม่แตกแขนง ใบรูปใบหอกแคบขนาดยาว 8 - 15 เซนติเมตร กว้าง 1.5 - 2 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว บิดโค้งเล็กน้อยไม่เท่ากัน ปลายใบป้านและแยก 2 แฉก ดอกเป็นดอกช่อ ช่อดอกเกิดตรงตาข้าง มีขนาดความยาวใกล้เคียงกับใบหรืออาจจะยาวกว่า มีการแยกแขนงและโค้งลง ดอกในช่อจำนวนมาก ใบประดับรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ขนาด 2 - 3 มิลลิเมตร ผิวหนาหยาบ ดอกเมื่อบานแล้วจะเปิดกว้างมาก ไม่มีกลิ่น ใช้สีสันในการดึงดูดพาหะถ่ายเรณู ดอกขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อย ซึ่งก้านดอกย่อยและรังไข่มีสีน้ำตาลอมม่วง ขนาด 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมม่วง มีสีเขียวอมเหลืองที่ขอบและเส้นกลาง กลีบเลี้ยงด้านบนรูปไข่ ปลายป้าน ขนาดยาว 12 มิลลิเมตร กว้าง 5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงด้านข้างเฉียงรูปไข่ ปลายป้าน ขนาดยาว 9 มิลลิเมตร 6 มิลลิเมตร กลีบดอกรูปขอบขนาน สีน้ำตาลอมม่วง มีสีเขียวอมเหลืองที่ขอบและเส้นกลาง ลักษณะโค้งกึ่งรูปเคียว ปลายป้านขนาดยาว 10 มิลลิเมตร กว้าง 4.5 มิลลิเมตร กลีบปากรูปใบหอก สีขาว ด้านข้างตั้งตรงและโค้งลงคล้ายรูปเคียว ปลายแหลม มีแฉกกลางเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้าง 6 มิลลิเมตร ค่อย ๆ เรียวลงมา จนปลายแหลมเว้าลึก แยกออกเป็น 2 เส้น คล้ายลิ้นงู เดือยดอกรูปกรวยตรงลงมา ขนาดยาว 5 มิลลิเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร ปลายยอดเดือยป้าน เส้าเกสรสีม่วง ขนาด 4 มิลลิเมตร ลักษณะอวบ ฝาครอบกลุ่มเรณู สั้นและกว้าง ก้านเป็นรูปสามเหลี่ยม เล็ก แป้นก้านกลุ่มเรณูรูปร่างพระจันทร์เสี้ยวหรืออานม้าขนาดใหญ่ นิเวศวิทยา: บริเวณที่กล้วยไม้ชนิดนี้อาศัยอยู่จะเป็นพื้นที่ป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ดอกออกในช่วงปลายฤดูร้อนและกำลังเข้าสู่ฤดูฝน คือ ประมาณช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม การกระจายพันธุ์: จีน (ไหหลำ) เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ในไทยพบบริเวณเขตทางภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ข้อมูลชีววิทยาอื่นๆ: - สถานภาพทางการอนุรักษ์: - เอกสารอ้างอิง: -


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Cleisostoma birmanicum (Schltr.) Garay

ชื่อท้องถิ่น = -

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง